ก้าวแรกสู่การเป็นแม่ คู่มือดูแลแม่และลูกน้อย จากศูนย์แม่และเด็ก 24 ชั่วโมง รพ.นวเวช

การดูแลสุขภาพแม่และเด็ก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว และสังคมโดยรวม ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ และวัยเด็กเป็นช่วงที่มีความสำคัญ และละเอียดอ่อนที่สุด การดูแลสุขภาพแม่และเด็กในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ไปจนถึงพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแม่และเด็ก ชวนไปพูดคุยกับ ทีมสูตินรีแพทย์ และทีมกุมารแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์แม่และเด็ก 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลนวเวช ที่จะมาช่วยสร้างความเข้าใจ พร้อมแนะแนวทางการดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด การดูแลตัวเองหลังคลอด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพและพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคุณแม่และลูกรัก

 

 

เตรียมความพร้อมก่อนเป็นคุณแม่ การเตรียมความพร้อมในการเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เริ่มต้นจากการวางแผนการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้การเตรียมตัวสำหรับการมีบุตรเป็นไปอย่างราบรื่นและมีสุขภาพดี โดย นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช แนะนำว่า หลังวางแผนที่จะมีลูกแล้ว คู่สามีภรรยาควรเข้ารับการตรวจ เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย (โลหิตจาง) โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น ตับอักเสบบี และหัดเยอรมัน หากไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนวางแผนที่จะตั้งครรภ์

 

“หลังจากตั้งครรภ์ หลายคนชอบถามว่าฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี ถ้าหมอแนะนำคือ เมื่อตรวจเจอว่าท้อง เข้ามาพบแพทย์ได้เลย เพื่อมาซักประวัติ ดูความเสี่ยงโรคต่างๆ คัดกรองภาวะครรภ์เสี่ยงสูง และรับยาบำรุง ช่วงแรกเราจะให้ ‘โฟลิก’ ช่วยป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทได้ หรือป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ที่สำคัญการมาพบแพทย์ เรามาตรวจดูว่าเป็นการตั้งครรภ์จริงไหม เป็นการตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก ถ้าคอนเฟิร์มเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูก หลังจากนั้นจะนัดตรวจติดตาม ดูการเจริญเติบโตของลูกไปเรื่อยๆ และฝากครรภ์ไปจนคลอด” นพ.ธิติพันธุ์ แนะ

 

ปัญหาแม่ตั้งครรภ์ รู้ก่อนรับมือได้

ปัญหายอดฮิตที่หลายครอบครัวยุคนี้เผชิญ คือ ปัญหาการมีลูกช้า โดย นพ.ธิติพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนตั้งครรภ์มีอายุเยอะขึ้น ด้วยเทรนด์มีลูกยาก หรือรอความพร้อมต่างๆ ขณะเดียวกันอายุที่เยอะขึ้นเกินวัย 35 ปี แม้จะมีความพร้อมด้านอื่นๆ แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม หรือโครโมโซมอื่นๆ ผิดปกติมากกว่าคุณแมตั้งครรภ์ที่อายุน้อย ซึ่งสมัยก่อนหากอายุเกิน 35 ปี แพทย์จะแนะนำให้ตรวจโดยวิธีการเจาะน้ำคร่ำ

 

แต่ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องอายุถึง 35 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนก็สามารถรับการตรวจ ที่เรียกว่า Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ โดยการตรวจจากเลือดแม่ เพื่อค้นหาความเสี่ยงและความผิดปกติของโครโมโซมที่สำคัญสำหรับทารกในครรภ์ โดยสามารถเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อวางแผนการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

 

อีกหนึ่งปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านกังวล คือ ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง นพ.ธิติพันธุ์ อธิบายว่า เป็นภาวะใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์  พบได้ทั้งในกลุ่มแม่ที่มีโรคประจำตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน อีกกลุ่มคือ ความเสี่ยงที่พบตอนตั้งครรภ์ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด รวมถึงคุณแม่ที่อายุเยอะ ก็ถือเป็นครรภ์เสี่ยงสูง เพราะมีความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม และครรภ์เป็นพิษ 

 

ขณะเดียวกัน ครรภ์เสี่ยงสูงสามารถส่งผลกระทบต่อลูกได้ เช่น แม่ที่เป็นเบาหวาน นอกจากเพิ่มความเสี่ยงที่แม่จะเกิดครรภ์เป็นพิษได้ในอนาคต เด็กยังอาจมีขนาดตัวโตกว่าปกติ หรือปอดเด็กพัฒนาช้า ซึ่งกรณีเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ปกติ โดยสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะครรภ์เสี่ยงสูง 

 

ควบคุมโรคที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ให้ได้

นอกจากนี้ สิ่งที่มักจะมาควบคู่กับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ อาการแพ้ท้อง ที่แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่ อาการแพ้ท้องจะเกิดในช่วงไตรมาสแรก ประมาณ 9 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการแพ้หนัก และจะเริ่มดีขึ้นช่วงใกล้ๆ พ้นไตรมาสแรก ในช่วง 12-14 สัปดาห์ สำหรับวิธีการดูแล ส่วนใหญ่คนไข้จะมีอาการแพ้ท้องเมื่อปล่อยให้ท้องว่าง จึงแนะนำให้หาอะไรทานบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ท้องว่าง พยายามจิบน้ำเยอะๆ บางคนต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นระบบประสาท เช่น กลิ่นฉุน อาหารรสจัด รวมถึงรับประทานของสุก สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดท้องเสีย

 

คลอดแบบไหน เหมาะกับใคร

การคลอด สามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ คลอดธรรมชาติ และผ่าตัดคลอด ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากจะดูว่าคุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ไหม ต้องยืนยันท่าทารก คือ ทารกต้องเอาศีรษะลงไปด้านล่าง เรียกว่า ‘ท่าหัว’ ประเมินเชิงกรานคุณแม่ว่าแคบหรือไม่ ด้วยการตรวจภายใน ดูขนาดตัวทารก หากเชิงกรานแม่ปกติ ทารกเอาศีรษะลง ขนาดตัวทารกไม่ใหญ่ สามารถคลอดธรรมชาติได้ แต่หากทารกอยู่ใน ‘ท่าก้น’ หรือนอนขวาง มีขนาดตัวใหญ่ เชิงกรานแม่แคบ และแม่ตัวเล็ก สูตินรีแพทย์จะไม่แนะนำให้คลอดธรรมชาติ เพราะมีโอกาสที่จะคลอดไม่ได้ ต้องใช้วิธีผ่าคลอดแทน หรือหากมีภาวะฉุกเฉินระหว่างรอคลอด เช่น หัวใจลูกไม่ดี หรือภาวะใดๆ ที่แม่ไม่ปลอดภัย ก็จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดคลอดทันที

 

ดูแลคุณแม่หลังคลอด

พญ.ศันสนีย์ อังสถาพร สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช เสริมว่า สำหรับการดูแลคุณแม่หลังคลอด จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ คุณแม่ที่คลอดเอง และผ่าตัดคลอด การระวังจะคล้ายกัน คือ ระวังเรื่องแผล การคลอดเอง แผลจะอยู่ในช่องคลอด จึงควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ขับถ่ายได้ตามปกติ ดูแลรักษาแผลให้สะอาด โดยแพทย์จะนัดมาดูแผลอีกครั้งใน 1 สัปดาห์ ส่วนการผ่าตัดคลอด เป็นการดูแลแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง หลังออกจากห้องผ่าตัด 3 วัน แพทย์จะมีการดูแผล 1 รอบก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นให้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน งดเว้นการเดินไกล ยกของหนัก อุ้มลูกนานๆ หลายชั่วโมง และระวังการกระแทกที่ท้อง หลังจากนั้นจะนัดดูแผลอีกครั้งหลังการผ่าตัด 7 วัน

 

“การปฏิบัติตัวทำได้ตามปกติ กินอาหารที่สุก สะอาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ วิตามินยังต้องรับประทานอยู่เหมือนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทั้งนี้ หลังจากที่ดูแผลเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะมีการนัดคนไข้มาติดตามตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะปากมดลูกค่อนข้างเปิด เก็บเซลล์ได้เยอะ และได้ตำแหน่งที่ถูกต้องในการตรวจ” พญ.ศันสนีย์ เสริม

 

 

ทารกแรกเกิด เรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

เรื่องของทารกเเรกเกิดมีหลายสิ่งที่ต้องระวังมากกว่าเด็กโต เนื่องจากช่วงเเรกเกิดจะยังไม่ทราบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตรวจคัดกรองด้านต่างๆ นพ.ปรเมศวร์ วงศ์ประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช อธิบายว่า การคัดกรองเบื้องต้นจะเริ่มมาตั้งเเต่ฝ่ายสูตินรีแพทย์ ซึ่งจะคัดกรองจากเลือดของเเม่ และเมื่อคลอดออกมาเเล้วจะเป็นส่วนของการคัดกรองเด็กแรกเกิด โดยทุกเคสที่คลอดที่ โรงพยาบาลนวเวช จะได้รับการตรวจคัดกรอง ดังนี้ 1. คัดกรองการได้ยิน เพื่อเป็นการเช็กเบื้องต้นว่ามีการได้ยินที่ปกติหรือไม่ 2. คัดกรองโรค 40 โรค เป็นการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเบื้องต้น และ 3. คัดกรองกรุ๊ปเลือดของลูก

 

“สำหรับภาวะฉุกเฉินทางการเเพทย์ของทารกเเรกเกิด สัญญาณที่ต้องกังวล คือ ซึม ไม่ดูดนม มีไข้ หรือตัวเย็น ไม่ค่อยตื่น ปกติเด็กก็ต้องตื่นมากินนม เเล้วนอน เเต่ถ้าไม่ค่อยตื่น ซึมลง เป็นภาวะที่ต้องระวัง อีกข้อหนึ่งที่จะเจอในเด็กเล็กเลยก็คือ สะดือเเดง บวม ต้องระวังภาวะสะดืออักเสบ ซึ่งเป็นภาวะอันตรายมากในเด็กเล็ก มีภาวะตัวเหลืองมากขึ้นอย่างเฉียบพลัน สัญญาณที่ต้องระวังภาวะที่รุนเเรงของเด็ก การถ่ายผิดปกติ ไม่ถ่าย ไม่ผายลม หรือถ่ายเหลว เป็นมูก เป็นฟอง เป็นเลือด เเละอีกข้อหนึ่งคือ ไอ หอบ เหนื่อย ต้องระวังเรื่องติดเชื้อทางเดินหายใจหรือการสำลักได้ เหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นของทารกแรกเกิดที่ต้องระวัง เเละพามาพบเเพทย์” นพ.ปรเมศวร์ ให้ข้อมูล

 

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับเด็กเเรกเกิด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าพ่อแม่หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลเด็กแรกเกิดอยู่มาก นพ.ปรเมศวร์ กล่าวว่า ความเชื่อที่มีความเข้าใจผิด เเบ่งออกเป็นสองส่วน

1. ความเชื่อที่มีอันตรายกับเด็ก เช่น การกินน้ำในเด็กเเรกเกิด โดยปกติแล้วในนมเเม่หรือนมผสม มีน้ำที่เพียงพออยู่เเล้ว ฉะนั้นในเด็กช่วง 6 เดือนเเรก ไม่จำเป็นต้องกินน้ำ เพราะจะทำให้มีเกลือเเร่ที่ผิดปกติในเลือดของเด็กได้ หรือ การดัดขาเด็ก โดยปกติแล้วขาโก่งเป็นสิ่งที่ต้องเจอในเด็กแรกเกิด กว่าจะตัดสินว่าเด็กคนหนึ่งขาโก่งหรือไม่ ต้องอายุ 3-4 ขวบขึ้นไป หากฝืนดัดอาจทำให้ขาเด็กหักได้ หรือ การให้เด็กกินกล้วยตั้งเเต่ 2-3 เดือน ก็อาจจะเสี่ยงเสียชีวิตจากลำไส้อุดตันได้

2. ความเชื่อที่อาจจะไม่ได้ช่วยอะไร แต่ไม่มีอันตรายกับเด็ก เช่น ส่องแดดตอนเช้า เพื่อลดอาการตัวเหลือง ในความเป็นจริงตัวเหลืองไม่สามารถหายด้วยการส่องแดดหรือส่องพระอาทิตย์ได้ โดยเฉพาะช่วงที่ PM 2.5 หนักๆ ไม่เเนะนำให้พาทารกแรกเกิดไปเจอฝุ่น หรือ การโกนผมไฟ เพื่อให้ผมมากขึ้น ลดผมร่วง ในความเป็นจริง การโกนผมไฟก็ไม่ได้ช่วยให้ปริมาณของรากผมมากขึ้นหรือทำให้ผมเยอะขึ้น

 

ดูแลเด็กแรกเกิดอย่างถูกวิธี

สำหรับการดูแลเด็กแรกเกิดในคุณแม่มือใหม่นั้น เบื้องต้นเเล้วเด็กแรกเกิดทั่วไป จะให้กินนมทุก 2.30 - 3 ชั่วโมง ปริมาณนมขึ้นอยู่กับเด็ก โดยนมเเม่สำคัญที่สุด เพราะมีภูมิคุ้มกันที่นมผสมไม่มี หนึ่งวันควรได้รับนมประมาณ 8 มื้อ หากลูกกินนมได้เพียงพอ จะนอนได้ยาว สามารถปัสสาวะได้มากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน อุจจาระมากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณเเม่มือใหม่ต้องรู้เบื้องต้น

ที่สำคัญ พามาพบเเพทย์ตามเวลาที่กุมารเเพทย์นัดไว้ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อติดตามการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก หรือความยาวของลูกน้อย, พัฒนาการของเด็ก, ตรวจร่างกายของเด็กว่ามีความผิดปกติด้านอื่นหรือไม่, ฉีควัคซีนตามนัด และให้ข้อมูลที่คุณพ่อคุณเเม่กังวลในเเต่ละด้าน เพื่อให้สบายใจเเละมีความสุขในการเลี้ยงลูก

 

เสริมสร้างพัฒนาการสมวัย

เพราะการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละช่วงวัยมีลักษณะเฉพาะและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป การดูแลสุขภาพและการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กนั้นจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย พญ.รังรักษ์ สวนดอก กุมารแพทย์ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช ให้ข้อมูลว่า เด็กเล็ก ตั้งเเต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 1 ปี รวมไปถึงเด็กวัยก่อนเข้าเรียน คือ 1 ปี - 3 ปี เด็กกลุ่มนี้จะต้องดูเรื่องพัฒนาการว่าสมวัยหรือไม่ น้ำหนักส่วนสูงเข้าเกณฑ์ไหม รับประทานอาหารอย่างไรเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้เเข็งเเรง หากมีภาวะเจ็บป่วย จะทำการวินิจฉัยอย่างเเม่นยำ รวดเร็ว เเละให้การรักษาที่ถูกต้อง

 

ส่วนเด็กโต จะเเบ่งเเยกเป็นเด็กวัยประถม เเละเด็กวัยรุ่น โดยจะดูพัฒนาการตามวัย เช่น ป.1 อ่านเขียนได้ไหม เข้าใจภาษา พูดเป็นประโยค เล่าเรื่องได้หรือไม่ ดูน้ำหนักส่วนสูง ดูเรื่องสารอาหารที่เหมาะสม เเละดูเเลเรื่องการเจ็บป่วย ขณะที่วัยรุ่นจะเเตกต่างกันที่ ก่อนวัยรุ่นจะดูว่ามีภาวะโตเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัยหรือไม่ ต้องปรับสมดุลเรื่องอาหารอย่างไร น้ำหนักส่วนสูงตามเกณฑ์ไหม หรือต้องเพิ่มสารอาหารอย่างไร เเละเรื่องความเจ็บป่วยเช่นเดียวกับเด็กเล็ก นอกจากนี้ อาจพบปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวเข้าสู่ภาวะวัยรุ่น ทั้งในเรื่องเพื่อน เกมส์ หรือมีปัญหากับพ่อเเม่ วัยรุ่นจะเริ่มอารมณ์ร้อน กลุ่มนี้จะมีคุณหมอให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอเรื่องพัฒนาการ หรือคุณหมอจิตวิทยา ส่วนภาวะเจ็บป่วยของเเต่ละวัย โรงพยาบาลนวเวชก็มีทีมแพทย์สาขาต่างๆ ให้การดูเเลที่ครอบคลุม

 

พัฒนาการที่สมวัยเป็นการบ่งบอกว่าร่างกายเเละสมองเป็นปกติ อยู่ในภาวะที่ปกติ ไม่ต้องได้รับการเสริม เเต่ถ้าไม่สมวัย หมออาจจะมีการชี้นำ หรือแนะนำให้คุณแม่เห็น เพื่อที่จะได้กระตุ้นพัฒนาการให้ตามเพื่อนได้ทัน เเละเป็นการตรวจหาโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ด้วย เช่น บางคนไม่รู้เลยว่าลูกมีปัญหาทางด้านสมอง พัฒนาการช้า ถ้าพบช้าเกินไป กระตุ้นช้าเกินไป ก็จะทำให้เด็กไม่ได้รับโอกาสในการแก้ไขได้ทัน หากมีพัฒนาการที่สมวัย ก็จะสามารถที่จะเติบโตได้ มีพัฒนาการทางด้านสมอง เเละทางด้านร่างกาย พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ และสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ” พญ.รังรักษ์ กล่าว

 

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก

ภูมิแพ้ในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว การเข้าใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการป้องกันและจัดการอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช เล่าให้ฟังว่า โรคภูมิแพ้เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม กรรมพันธุ์ คือการที่มีคุณพ่อ คุณแม่ แพ้อยู่แล้ว ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในคนไข้เด็ก ส่วนสิ่งแวดล้อม อาจเกิดตั้งแต่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะ สัมผัสฝุ่น PM 2.5  ควันบุหรี่ หรือการกินอาหารอย่างใดอย่างนึง มากเกินไป ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้ต่อลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมาได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ อาศัยอยู่ในช่วง 1-2 ขวบปีแรกก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้เช่นกัน

 

ลักษณะโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในช่วงขวบปีแรก ได้แก่ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีลักษณะผิวหนังอักเสบจากการเป็นภูมิแพ้  ถัดมาคือ การแพ้อาหาร อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการทางผิวหนัง เป็นลักษณะของผื่นสาก คันแดง ที่เกิดขึ้นตามผิวทารกแรกเกิดนั่นเอง อาการแสดงพวกนี้เป็นได้ตั้งแต่เกิด แต่อาจจะมาเริ่มแสดงอาการหลังจากที่ทารกเกิดมาได้ 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ลักษณะการถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายปนมูกปนเลือด รวมถึงการร้องโคลิค หรือที่เรียกว่า การร้องร้อยวัน มีการหายใจครืดคราด สำลักนมบ่อย มีกรดไหลย้อน เหล่านี้เป็นหนึ่งในอาการแพ้อาหารได้เช่นกัน

 

สุดท้าย คือ ภูมิแพ้อากาศ จะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับประวัติคนในครอบครัวมีความเสี่ยงหรือไม่ หากคุณพ่อคุณแม่มีความเสี่ยง อาจเกิดเร็วตั้งแต่ 1 ขวบ หรือเริ่มหลัง 2 ขวบก็ได้  โดยแพ้อากาศจะเรียกว่า เยื่อบุจมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบจากการเป็นภูมิแพ้ จะมีอาการคัดจมูก คันจมูก คันตา หรือมีการไอเรื้อรัง หายใจครืดคราดตอนกลางคืน รวมไปถึงนอนกรนในเด็ก ซึ่งปกติเด็กไม่ควรนอนกรน

 

“Top 8 ของอาหารที่เป็นสาเหตุหลักของการแพ้ ได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง ไข่แดง ไข่ขาว อาหารทะเลมีเปลือก และปลา ในขณะที่กลุ่มแพ้ผิวหนังกับแพ้อากาศจะเป็นลักษณะของการแพ้ไรฝุ่น ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ แมลงสาบ รวมถึงขนสัตว์ ขนหมา ขนแมว หรือเชื้อรา ตามลำดับ ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน ทำให้การแสดงอาการแตกต่างกัน”

 

โรคภูมิแพ้ รู้ก่อน ป้องกันได้ ในปัจจุบันโรคภูมิแพ้ถือว่าป้องกันได้ โดยแบ่งเป็น 3 ข้อ คือ 

1. ป้องกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การที่คุณแม่ทานน้ำมันตับปลาซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทานโอเมก้า หรือโพรไบโอติก จะช่วยป้องกันการเกิดภูมิแพ้ที่ถ่ายทอดมายังลูกได้ รวมถึงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ไม่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 หรือการทานอาหารที่เหมาะสม หลากหลาย ไม่ทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร

2. เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว การทานนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือนเป็นการป้องกันการเกิดภูมิแพ้ที่ดีที่สุด หรือการให้ทานนมสูตรพิเศษ สำหรับทารกที่แพทย์ประเมินว่าเสี่ยงจะเป็นภูมิแพ้

3. อย่างไรก็ตาม หากโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นมาแล้ว การรักษา คือ ปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะวินิจฉัย ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ใช้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้ การล้างจมูก หรือการใช้ยาพ่นชนิดสเตียรอยด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น

 

วัคซีนรักษาภูมิแพ้ 

อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาภูมิแพ้ คือ วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) โดยวัคซีนรักษาภูมิแพ้มี 2 ระดับ 1. เพื่อรักษาภูมิแพ้อาหาร เรียกว่า Oral Immunotherapy 2. เพื่อรักษาภูมิแพ้อากาศ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Immunotherapy) และชนิดอมใต้ลิ้น (Sublingual Immunotherapy)

 

“ปัจจุบันโรคภูมิแพ้ในเด็กถือว่าเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้สูงขึ้น จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วย โดยการวินิจฉัยทำได้ 2 แบบ คือ การสะกิดผิวหนัง กับตรวจเลือด ซึ่ง 2 ส่วนนี้ใช้บอกความรุนแรงของโรคได้ หากเราวินิจฉัยได้เร็ว เด็กอยู่ในภาวะที่ไม่รุนแรง เรามีการหลีกเลี่ยงอย่างหมาะสม เมื่อถึง ณ เวลาหนึ่งเขามีโอกาสที่จะหายขาดอยู่แล้ว เราแค่เพิ่มโอกาสโดยใช้วัคซีนเข้าไป เด็กก็จะมีโอกาสที่จะหายขาดได้มากขึ้นในอายุที่เหมาะสม ซึ่งจริงๆ ในปัจจุบัน ผู้ใหญ่ก็ทำได้ สามารถใช้วัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ถึง 50 ปีเลยทีเดียว” พญ.สิริรักษ์ เสริม

 

โรคฮิตที่มากับหน้าฝน

ช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นและอากาศเย็นมักทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง โรคที่มักพบในช่วงนี้ ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ RSV และโรคมือเท้าปาก

 

พญ.กฤตพร พรไพศาลสกุล กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช เผยว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับแม่ๆ ณ ตอนนี้ คือ โรคติดเชื้อไวรัส RSV ที่แพร่ระบาดเยอะในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ง่าย และโรคค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ

ด้วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอ เสมหะเยอะ เด็กบางคนไอจนอาเจียน บางคนนอนไม่ได้ บางคนทานแล้วอาเจียนออกมาเป็นเสมหะตลอด ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ หลักๆ เป็นการรักษาตามอาการ เน้นการพ่นยา ดูดเสมหะ ให้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ เคลียร์ทางเดินหายใจให้โล่ง ในกลุ่มอาการรุนแรงที่มีปอดอักเสบร่วมด้วย ต้องใส่ออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ

 

“วัคซีนของเด็กจะมีบังคับตามช่วงวัยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นวัคซีนเสริมที่เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเดินหายใจ จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละเข็ม ซึ่งจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ก่อนช่วงเข้าหน้าฝน หรือช่วงก่อนเปิดเทอม ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ถ้าหมอแนะนำก็จะเป็นช่วงก่อนเปิดเทอม ด้วยสายพันธุ์ที่ระบาดจะเปลี่ยนทุกปี โดยวัคซีนจะอัปเดตตามสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ”  พญ.กฤตพร ให้ข้อมูล

 

โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก

เห็นได้ว่าโรคทางเดินหายใจในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและมีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของเด็กในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงวัยเรียน พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์เฉพาะทาง โรคทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช อธิบายว่า โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นหวัดประมาณ 8-10 ครั้งต่อปี แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป เด็กไปโรงเรียนเร็วขึ้น คือเข้าอนุบาลตั้งเเต่อายุเฉลี่ยประมาณสามขวบ บางคนเข้าตั้งเเต่สองขวบครึ่ง ซึ่งจริงๆ เเล้วภูมิคุ้มกันยังไม่เเข็งเเรงพอเข้าไปอยู่รวมกันเยอะๆ ทำให้เด็กมีการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย และอาจจะเป็นได้นาน

 

“ตามสถิติ เด็กติดเชื้อทางเดินหายใจค่อนข้างเยอะ ทั้งปริมาณ และความหนักในปัจจุบัน เเละยังมีเรื่องของมลภาวะต่างๆ ในระหว่างปี เลยทำให้เด็กมีปัญหาทางเดินหายใจได้เยอะ หากเป็นเรื่องหนักๆ จะเเบ่งแยกเป็นการติดเชื้อ กับไม่ได้ติดเชื้อ การติดเชื้อ ในเด็กเล็กมากๆ เชื้อยอดฮิตชื่อว่า RSV เป็นเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ หรือกรณีที่ไม่ได้มาจากทางเดินติดเชื้อก็อาจจะเป็น โรคหอบหืด เหล่านี้เป็นสถานการณ์โรคทางเดินหายใจในเด็กที่เจอบ่อยในเเต่ละปี”

 

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ พญ.ปุษยบรรพ์ ยกโมเดลจากช่วงสถานการณ์โควิดระบาด คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย และให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนที่สอนเรื่องสุขอนามัย สอนวิธีการไอของเด็ก ซึ่งส่วนมากจะสอนให้เด็กเอามือปิดปากเวลาไอ แต่วิธีดังกล่าวอาจทำให้น้ำมูก-น้ำลายติดที่มือเด็ก แล้วนำไปจับที่อื่นต่อ โดยวิธีการไอที่ถูกต้อง ให้ไอเข้าเสื้อตัวเอง หรือไอใส่ศอกตัวเอง เพื่อลดการนำมือที่ปนเปื้อนไปสัมผัส และขอความร่วมมือคุณพ่อคุณแม่ หากรู้ว่าลูกป่วย ช่วงที่เด็กมีไข้ ไอ แปลว่า ไวรัสในร่างกายค่อนข้างเยอะ เป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้เยอะ ควรให้เด็กอยู่บ้านก่อนเพื่อลดการแพร่เชื้อ

 

“โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ความหนักที่สุดของภาวะหายใจที่เรากลัว คือ ภาวะหายใจล้มเหลว อาการคือจะหายใจลำบาก เด็กปากเขียวคล้ำ ซึมลง แต่ก่อนจะไปถึงล้มเหลวจะมีภาวะหายใจลำบาก ที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่มีทักษะ คือ ดูลักษณะการหายใจของลูก เช่น เด็กอายุ 1 ขวบ ถ้าลูกปกติดีไม่ควรหายใจเกิน 40 ครั้ง อันนี้วัดขณะหลับ ถ้าเกิน 40 ครั้งควรพามาพบกุมารแพทย์ เพราะภาวะหายใจเร็วเป็นอาการแรกสุดที่เราเจอได้ในเด็กที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง” พญ.ปุษยบรรพ์ เน้นย้ำ

 

 

เพราะเด็กเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในทุกๆ มิติ ศูนย์แม่และเด็ก 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลนวเวช พร้อมดูแลคุณแม่ และเด็กครบทุกช่วงวัยอย่างใส่ใจเสมือนคนในครอบครัว ด้วยทีมสูตินรีแพทย์ และทีมกุมารแพทย์เฉพาะทาง ที่ครอบคลุมทุกการรักษา ช่วยเสริมสร้างสุขภาพทั้งกายและใจอย่างสมวัย พร้อมรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเด็ก ตลอด 24 ชั่วโมง