เห็นเพื่อนเป็นมะเร็งแบบกะทันหัน เลยคิดว่าวัยนี้แล้วเราต้องไม่ประมาท

“ถึงพี่จะตรวจสุขภาพประจำปีชุดใหญ่อย่างสม่ำเสมอ แต่พอถึงช่วงอายุหนึ่งของวัย 60 อัพ มันก็มีความจำเป็นที่ต้องตรวจละเอียดขึ้น” คุณผ่องศรี ประกรแก้ว วัย 63 ที่เพิ่งเกษียณจากงานประจำ แต่ยังคงไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟ กล่าวอย่างหนักแน่นด้วยวิธีคิดที่ทันสมัย

 

“ตอนแรกตัวพี่เองไปเป็นเพื่อนพี่ที่เขามีความกังวล เขามีอาการนิดหน่อย เลยไปตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะอยากเช็คให้ชัวร์ ส่วนตัวเองมีความกังวลเรื่องกระบวนการที่ต้องวางยา เลยศึกษาหาข้อมูลเพิ่มอีกนิดเพื่อให้มั่นใจ ประกอบกับได้มาเห็นขั้นตอนที่เพื่อนตรวจด้วย ก็มีการเตรียมความพร้อมตัวเอง”

หลังจากเข้ารับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ (EGD & Colonoscope) แบบได้ยาหลับ โดย น.ท.นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์ อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร คุณผ่องศรี เผยความรู้สึกว่า “ปรากฎว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งเพราะคุณหมอปารินทร์ ตอบข้อซักถามได้อย่างชัดเจน เป็นกันเอง ทีมพยาบาลก็น่ารัก ดูแลอย่างดี”

 

“อีกเรื่องที่พี่ประทับใจมาก คือในสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องความปลอดภัย ความสะอาดของขั้นตอนต่าง ๆ สำคัญมาก เพราะโควิดยังอยู่ และในส่วนของโรงพยาบาลนวเวช พอเป็นโรงพยาบาลใหม่ เครื่องมือทันสมัย สถานที่เป็นสัดเป็นส่วน สะอาดสะอ้าน บริหารจัดการคิวไม่แออัด คนไข้ไม่ไปแจมกัน ซึ่งพี่สบายใจมากในจุดนี้ที่เราไม่อยากต้องรอคิวนาน”

 

“ผลที่ออกมาทำให้เราทราบว่าเราเป็นอะไรอย่างที่เรากังวลหรือไม่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็วางแผนการรักษา ถ้าไม่มีอะไร มันก็ทำให้เราสบายใจ เพราะเราเห็นเพื่อนเป็นมะเร็งแบบกะทันหันถึง 2 คน เลยคิดว่าวัยนี้แล้วเราต้องไม่ประมาท ถ้าเป็นอะไร จะได้รีบรักษาดีกว่าเจอในวันที่อาการหนัก” คุณผ่องศรีกล่าวทิ้งท้าย

 

 

รู้จักโปรแกรมการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ (EGD & Colonoscope) กับ น.ท.นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์ อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนวเวช

โปรแกรมการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ (EGD & Colonoscope) คือโปรแกรมสำหรับการตรวจคัดกรองความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ซึ่งรวมไปถึงอาการกระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากการตรวจร่างกายของแพทย์จากภายนอกโดยการคลำหน้าท้อง ไม่สามารถบอกรายละเอียดต่าง ๆ ทางพยาธิสภาพในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ได้ การส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่จึงเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรค สำหรับการส่องกล้องกระเพาะอาหารนั้น เป็นการส่องกล้องที่มีขนาดเล็ก เพียงเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 ซม. เข้าไปทางปากผ่านกระเพาะอาหารถึงลำไส้เล็กส่วนต้น และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ จะเป็นการส่องกล้องจากทวารหนักเข้าไปถึงบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย

 

สำหรับผู้ที่ควรมาตรวจคัดกรองโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ (Stomach and Intestine) โดยการส่องกล้อง คือ

 

1. ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

2. ผู้ที่มีผลตรวจสารบ่งชี้มะเร็งขึ้นสูงกว่าปกติ (Tumor marker rising) CEA

3. ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือขับถ่ายผิดปกติ ถ่ายมีเลือดปน ท้องผูก หรือท้องเสียเรื้อรัง

4. ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป และมีภาวะซีด เม็ดเลือดแดงตัวเล็ก (Microcytic Anemia)

 

วิธีการเตรียมตัวมาส่องกล้องกระเพาะอาหารทำได้ง่าย เพียงแค่งดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชม ก่อนการส่องกล้อง ในขณะที่การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ต้องมีการเตรียมลำไส้ คือการกินยาถ่ายและถ่ายจนอุจจาระมีลักษณะใส หรือที่เราเรียกกันว่าการล้างลำไส้นั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ไปแล้ว ควรตรวจติดตามทุก 1-5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับพยาธิสภาพจากการส่องกล้อง